การต้อนรับปีใหม่แบบญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง

หลายคนคงเคยรู้ว่าญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมในการต้อนรับปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประดับตกแต่งบ้าน ก่อนตกแต่งบ้านก็ต้องทำความสะอาดบ้านกันก่อนนะคะ 

ธรรมเนียมการต้อนรับปีใหม่ที่เคยรู้เคยได้ยินหรือจะเคยเห็นในการ์ตูนก็จะมี อย่างเช่น การประดับคะโดะมัตซึ (ต้นไผ่และต้นส้นที่ประดับประตูบ้านด้านสวน) ชิเมะคะซะริ (เชือกที่ทำจากฟางข้าวเอามาฟั่นให้เป็นเกลียวทำเป็นวงกลม) คากะมิโมะจิ (โมะจิสองชั้น) อาหารในวันปีใหม่ที่เรียกว่า โอะเซจิ กับ โอะโซนิ ธรรมเนียมการละเล่นตามประเพณีดั้งเดิม การไหว้พระขอพร หรือแม้แต่การไปชมพระอาทิตย์แรกแห่งปี

ธรรมเนียมการต้อนรับปีใหม่นั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละภาคแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นจึงขอเล่าเพื่อเป็นความรู้โดยทั่วๆ ไป โดยยึดตามธรรมเนียมของที่บ้าน

คะกามิโมจิ
คะกะมิโมะจิ
ในรูปเป็นโมะจิที่ใช้บูชาเทพเจ้าในแต่ละห้องของบ้าน ประกอบด้วยโมะจิที่เป็นชั้นๆ ที่เห็นมีส้มนั้นไม่ใช่ส้มธรรมดานะคะ มันคือส้มไดไดค่ะ เป็นส้มที่ไม่ค่อยมีน้ำค่ะ 

สิ่งของที่นำมาใช้ต้อนรับปีใหม่ก็จะมีแต่สิ่งของที่มีความหมายดีๆ เป็นสิริมงคล คำว่าไดไดที่เป็นชื่อเรียกของส้มชนิดนี้ มีความหมายว่าการสืบทอดต่อเนื่องจากรุ่นไปสู่อีกรุ่น นอกจากนั้นก็จะมีข้าวสาร ลูกพลับแห้ง ถั่วดำ และใบอุระจิโระ (裏白 ใบที่ด้านหลังใบจะเป็นสีขาว) คากะมิโมจิของบ้านนี้มีเลโก้ตัวต่อเป็นรูปนกด้วย อันนี้เป็นออพชั่นเสริม แล้วแต่คนจัดตามสดวกเลย

ทำไมถึงต้องจัดชุดแบบนี้ในทุกห้อง

ตามความเชื่อต่อๆ กันมาเลยคือว่าทุกที่ทุกห้องจะมีเทพเจ้าอยู่ แม้แต่ในห้องน้ำ ก็เลยมีการต้อนรับเทพเจ้ากลับมาบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี สำหรับบ้านนี้จะจัดวางส้มไว้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม บางบ้านที่เคยได้ยินมา เขาจะจัดวันที่ 28 ธันวาคม และไม่นิยมจัดวางในวันที่ 29 ธันวาคม 

ปัจจุบันนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและทั่วโลกอยู่ในขาลง บางบ้านก็งดไปหลายห้อง เอาที่จำเป็นจริงๆ ตามหลักก็คือการบูชาเทพเจ้าไฟ และน้ำ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเห็นว่ามีวางไว้ในห้องครัวที่เดียว หรืออาจจะเพิ่มอีกทีตรงอ่างล้างหน้าก็แล้วแต่ความสดวกของแต่ละบ้าน

เมื่อไหร่จึงจะเก็บลาของไหว้คากะมิโมะจิ

คะกะมิโมะจิจะวางบูชาเทพเจ้าไว้จนถึงกลางเดือนมกราคม ส่วนใหญ่จะเก็บลาคะกะมิโมะจิในวันที่ 12-15 มกราคม แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละภาคในญี่ปุ่น

เก็บลาของไหว้แล้วเอามาทานได้ไหม

ปกติลูกพลับแห้งจะทานแบบนั้นหรือจะนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนก็ได้ ถั่วดำก็สามารถนำไปประกอบอาหารรับประทานได้ ขนมโมจิสองชั้นนั้นก็ทานได้ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนำมาต้มกินกับถั่วแดงหวาน ส่วนใบอุระชิโระนี่ก็รวบรวมพร้อมกับเครื่องลางอย่างอื่นแล้วนำไปที่วัดหรือศาลเจ้า 

ท้ายนี้ขอพูดถึงใบอุระจิโระไว้หน่อย ทำไมต้องมีใบนี้ 

裏白
ใบอุระจิโระ

ธรรมชาติของใบนี้จะมีใบใหม่และใบเก่าเติบโตไปด้วยกัน แล้วใบทั้งสองข้างก็จะมีขนาดยาวพอๆ กัน จึงเปรียบเหมือนกับสามีภรรยาที่มีความสมดุลกัน และมีการเติบโตไปเรื่อยๆ คือจะมีใบใหม่มาต่อใบเก่าไปเรื่อยๆ แล้วเวลาวางก็จะจับเอาด้านหลังใบที่มีสีขาวขึ้นวางด้านบน ในภาษาญี่ปุ่นจะมีความหมายว่า 「裏返しても心は白い」แปลได้ว่าถึงจะกลับด้านหลังจิตใจก็เป็นสีขาว สีขาวเปรียบเหมือนความดีความบริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย รวมๆ แล้วก็คือจิตใจที่ดีงามบริสุทธิ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั่นเอง 

แต่สำหรับภาคอื่นเคยได้ยินเขาบอกว่าหมายความถึงการขอพรให้อายุยืนจนเส้นผมเป็นสีขาว 

เป็นยังไงคะ ประเพณีที่ปฏิบัติกันมาของชาวญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าแฝงไว้ซึ่งความหมายและคติความคิดดีๆ ในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างลึกซึ้งทีเดียว หวังว่าบทความนี้จะให้ประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างนะคะ
 

ความคิดเห็น